เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น

เกี่ยวกับเรา

คำแถลงนโยบาย

คำแถลงนโยบาย

ของ

นายพลภพ  มานะมนตรีกุล

นายกเทศมนตรีตำบลเวียง

แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลเวียง

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น.

............................

                         เรียน ท่านประธานสภาเทศบาล ท่านสมาชิกสภาเทศบาล ผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้าน หัวหน้าส่วนราชการ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ผมนายพลภพ มานะมนตรีกุล นายกเทศมนตรีตำบลเวียง ตามที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 14)  พ.ศ. 2562 มาตรา 48 ทศ กำหนดให้ ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาเทศบาลเรียกประชุมสภาเทศบาลเพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล โดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี การแถลงนโยบายให้กระทำโดยเปิดเผย และต้องจัดทำนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรแจกให้สมาชิกสภาเทศบาลทุกท่านที่มาประชุมด้วย ซึ่งในวันนี้ประธานสภาเทศบาลตำบลเวียงได้เรียกประชุมสภาเทศบาล เพื่อให้นายกเทศมนตรีตำบลเวียง ได้แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล นั้น

                     กระผม นายพลภพ มานะมนตรีกุล นายกเทศมนตรีตำบลเวียง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศลงวันที่ 27 เมษายน 2564 เรื่อง ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย ประกาศให้กระผม นายพลภพ มานะมนตรีกุล เป็นผู้ได้รับ   การเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลเวียง  เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตรา 48 ทศ ซึ่งได้กำหนดให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลก่อนเข้ารับหน้าที่ กระผมจึงได้กำหนดนโยบายในการบริหารงานและพัฒนาเทศบาลตำบลเวียง สำหรับช่วงระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลภายให้ระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยยึดถือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัด ยุทธศาสตร์จังหวัด ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Developrent Goals; SDGs) เป็นหลักในการกำหนดนโยบายการบริหารและพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาในเขตพื้นที่ รวมทั้งความต้องการในการพัฒนาทุกๆ ด้านสานต่อการกิจที่ได้ดำเนินการไว้ให้ต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก ปลุกกระแสการมีส่วนร่วม เพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้น โดยจะยึดถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ

                 ในการนี้ กระผม นายพลภพ มานะมนตรีกุล  นายกเทศมนตรีตำบลเวียง  ขอแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลตำบลเวียง ให้ทราบว่า กระผมจะบริหารงานเทศบาลตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายและตามระเบียบ   ที่กำหนดไว้ ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชน/หมู่บ้าน แผนพัฒนาท้องถิ่น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายของเทศบาล การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงานและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด กระผมมีนโยบายที่สำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เทศบาลตำบลเวียง  มีความเจริญก้าวหน้า

         โดยมีนโยบายการพัฒนาของผู้บริหารเทศบาลตำบลเวียง สรุปได้ 7 ด้าน ดังนี้

  1. นโยบายการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน

มีนโยบายมุ่งเน้นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีระบบ เร่งรัดพัฒนาด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการและบริการสาธารณะทุกด้าน ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สนองต่อการพัฒนาศักยภาพและสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ของเมือง อันจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความสะดวกในการดำรงชีวิต การคมนาคมสัญจรไปมา และการประกอบอาชีพของประชาชนโดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

        1.1) พัฒนา ปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ถนนสายหลักและสายรองให้ได้มาตรฐาน และซ่อมแซมบำรุงรักษา ถนนสายหลัก สายรอง ตรอก และซอย  ให้ใช้ได้โดยสะดวก

        1.2) ดำเนินการก่อสร้าง ซ่อมแซม บำรุงรักษา ระบบระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการจัดวางระบบป้องกันน้ำท่วมในชุมชน

         1.3) ดำเนินการติดตั้งและขยายเขตไฟฟ้าสาธารณะให้ทั่วถึง ติดตั้งไฟสัญญาณจราจรและป้ายแจ้งเตือน ติดตั้งกล้อง CCTV ในจุดสำคัญ เพื่อสร้าง  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

         1.4) พัฒนาระบบผังเมือง การควบคุมอาคาร ระบบการจราจร ถนนเลี่ยงเมือง ถนนสายหลัก สะพาน ท่อระบายน้ำ ระบบประปา การบำรุงรักษา สิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ของหมู่บ้าน ชุมชน แหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถานให้ครบทุกพื้นที่ ให้มี   ความสะดวกสบายปลอดภัย ทั้งด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้ได้คุณภาพ มีมาตรฐานรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเมืองชายแดน 

  1. นโยบายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุน การพาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว

มีนโยบายมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการพัฒนาเสริมสร้างเศรษฐกิจฟื้นฐานครัวเรือนและชุมชน การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงด้าน การประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรับปรุงและพัฒนา สินค้าในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพแก่เกษตรกรและการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ปรับปรุงศักยภาพการจัดเก็บรายได้ และเร่งพัฒนาเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่นอย่างครบวงจร

โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

         2.1) พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความสมดุล สอดคล้องแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

         2.2) ส่งเสริมสนับสนุนการประกอบอาชีพและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ เพื่อยกระดับรายได้สนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มอาชีพต่างๆ มุ่งกระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในท้องถิ่นมีงานทำตลอดฤดูกาล

         2.3) พัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมทั้งพัฒนาแหล่งการตลาดจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้า/จุดกระจายสินค้าเมืองชายแดน เพื่อรองรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพิ่มศักยภาพแก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ในการเพิ่มผลผลิตสนับสนุนสินค้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ควบคู่กับพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ และปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการด้านบริการดำเนินการพัฒนาปรับปรุงปัจจัยพื้นฐาน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทุกด้านอย่างมีระบบ

        2.4) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองชายแดนให้มีศักยภาพสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างงานเสริมรายได้เพิ่มขึ้นให้กับประชาชนและชุมชน จัดทำแผนพัฒนาท่องเที่ยว เพื่อเป็นกรอบและแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความต่อเนื่อง ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ร่วมประสานสนับสนุนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและโบราณสถานสู่การพัฒนาท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

          3. นโยบายการพัฒนาด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ

มีนโยบายมุ่งเน้นที่จะจัดระบบการศึกษาในระดับอนุบาล เด็กก่อนวัยเรียนและพัฒนาการศึกษาทั้งในและนอกระบบ สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้   ความเข้าใจในวัฒนธรรม และจารีตประเพณีอันดีงามเสริมสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการปฏิบัติตนต่อสังคม ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมตลอดจนฟื้นฟูและรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น  โดยการสนับสนุน กิจกรรมทางศาสนาของประชาชนทุกศาสนาส่งเสริมและพัฒนาความสามารถด้านกีฬาแก่เยาวชนในชุมชนอย่างทั่วถึง พร้อมให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้รับการฝึกฝน เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านกีฬาอย่างมีระบบนำไปสู่การพัฒนาที่ถูกต้อง ปรับปรุงศูนย์เยาวชนตำบลให้เกิดความหลากหลายในกิจกรรมต่างๆ เช่น ด้านดนตรีสากล ดนตรีพื้นบ้าน ศูนย์เทคโนโลยีและสารสนเทศ กิจกรรมนันทนาการที่ทั่วถึงมอบให้แก่ประชาชน เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนโดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

          3.1) ส่งเสริมสนับสนุนและยกระดับการศึกษาของเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ทั้งในและนอกระบบโรงเรียนตามอำนาจขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน และพัฒนายกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มาตรฐานยิ่งขึ้น การส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน โดยใช้ระบบคุณธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว สถาบันทางศาสนา สถาบันทางการศึกษา และสถาบันทางสังคม พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพการศึกษาระบบเครือข่ายของท้องถิ่น

         3.2) สนับสนุนการศึกษาอบรมของประชาชน การส่งเสริมพัฒนาเด็กเยาวชนได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในระดับสูงแล้วนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาท้องถิ่น การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

         3.3) ส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทย สภาวัฒนธรรม สถาบันทางศาสนา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสืบคัน เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การสร้างองค์ความรู้ สืบค้นปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ชุมชนต่างๆ  ได้เข้ามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านแก่เด็กและเยาวชน การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงาม

         3.4) ส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาและนันทนาการต่างๆ จัดตั้งศูนย์เยาวชนเทศบาลตำบลเวียงเป็นแหล่งเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสริมสร้างประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านต่างๆ การจัดตั้งชมรมกีฬาและนันทนาการ จัดหาและบำรุงรักษาอุปกรณ์กีฬา สถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจชุมชน 

           4.นโยบายการพัฒนาด้านสังคม

เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชนทุกระดับพร้อมเสริมสร้างสวัสดิการที่ดีและกิจกรรมการสังคมสงเคราะห์ การส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

            4.1) ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์แก่ประชาชนอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เด็ก สตรี ผู้พิการคนชรา ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึง

           4.2) ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน การควบคุมและระวังโรคติดต่อ จัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขแบบครบวงจร สนับสนุน ส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของกองทุนหลักประกันสุขภาพในการสร้างสุขภาพภาคประยาชน การดูแลระยะยาวสำหรับประชาชนผู้ที่มีภาระพึ่งพิง ส่งเสริมอาหารบริโภคที่ปลอดภัย ส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนให้มากขึ้น ปรับปรุงฟื้นฟูภารกิจศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน

            4.3) พัฒนาปรับปรุงระบบการกำจัดขยะมูลฝอย โดยเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ร่วมบริหารจัดการบ่อกำจัดขยะกับหน่วยงานราชการ เอกชนที่เกี่ยวข้อง การสร้างจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน รองรับการขยายตัวของเมืองเชียงแสน เมืองท่องเที่ยวตามแนวชายแดน

           4.4) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในรูปแบบ"ประชาคมเทศบาล" การสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากร และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค การสนับสนุนการดำเนินงานประชาชนจิตอาสา การบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ จิตสาธารณะ

           5.นโยบายการพัฒนาด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และรักษาความสงบเรียบร้อย

มีนโยบายมุ่งเน้นที่จะให้บริการประชาชนทุกระดับ และให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ให้เกิดความผาสุกและเกิดความมั่นคงในชีวิตทรัพย์สิน

โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

           5.1) พัฒนาระบบรักษาความสงบเรียบร้อยแก่ชุมชน พัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัคร อปพร. ชรบ.ตำรวจชุมชน, ประชาชนจิตอาสา และกลุ่มพลังมวลชนอาสาสมัครต่าง ๆ ประสานความร่วมมือชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้าน ชุมชน

          5.2) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมโดยเน้นชุมขนมีส่วนร่วม การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเมืองชายแดน ร่วมปฏิบัติหน้าที่กับศูนย์ อปพร.ในแต่ละหมู่บ้าน การจัดตั้งสายตรวจร่วมระหว่าง อปพร. กับ ชรบ.อาสาสมัครตำรวจชุมชน ,การประสานงานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง

         5.3) การจัดหาให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิง สนับสนุนหน่วยปฏิบัติการผู้ชีพกู้ภัยการป้องกันรักษาความสงบเรียบร้อยให้มีมาตรฐานครบถ้วน ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ราษฎร สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และการประกอบธุรกิจของนักลงทุนในเมืองชายแดนมากยิ่งขึ้น

        5.4) การจัดทำระบบข้อมูลชุมชน ในการสำรวจสภาพพื้นที่ การอยู่อาศัยของประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แผนการรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชนและการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง การสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์ในพื้นที่

           6. นโยบายการพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายมุ่งเน้นที่จะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ในการปรับปรุง บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เป็นไปอย่างยั่งยืน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาบ้านเมืองให้น่าอยู่น่าอาศัย มีทรัพยากรธรรมชาติที่พอเพียง เหมาะสมต่อการนำมาใช้ประโยชน์ภายใต้การรักษาความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ

       โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

6.1) การเสริมสร้างจิตสำนึกและตระหนักรู้ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6.2) การป้องกันการทำลาย การบำบัดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6.3) พัฒนาสิ่งแวดล้อมโดยการบริหารจัดการ กิจกรรมการสนับสนุนระบบกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

6.4) รณรงค์การขุดลอกวัชพืช คลองส่งน้ำใช้ในการเกษตร ขุดลอกลำเหมืองเพื่อแก้ไขท่วม ภัยแล้ง

6.5) ปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีระบบ สร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การอนุรักษ์แหล่งเรียนรู้โบราณสถานป่าไม้ ภายใต้จิตสำนึกและรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

       7.นโยบายการพัฒนาด้านการเมืองการบริหาร

มีนโยบายมุ่งเน้นที่จะพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชนจัดระบบการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม เพื่อให้บริการประชาชนในเรื่องต่าง ๆพัฒนาบุคลากร อุปกรณ์ และสถานที่ปฏิบัติงานให้ทันสมัยรองรับการถ่ายโอนภารกิจจากภาครัฐส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจในกิจการของท้องถิ่น ให้ประชาชนเป็น ศูนย์กลางในการพัฒนา มีส่วนร่วมในกิจการของเทศบาลตลอดจนเสริมสร้างวัฒนธรรมในการทำงานให้แก่บุคลากรเทศบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งเน้นให้องค์กรแห่งธรรมาภิบาลในการให้บริการประชาชน

        โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

        7.1) ส่งเสริมด้านการเมือง การปกครอง ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของเทศบาล สร้างจิตสำนึกให้ชุมชนปกครองตนเองภายใต้หลักธรรมาภิบาล  ( GOOD GOVERNANCE ) หรือยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

       7.2) พัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการ จัดให้มีการบริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การลดขั้นตอนในการทำงาน การจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

       7.3) ส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจ  ความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับบุคลากรภายในองค์กร ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ โดยบริหารงานบนพื้นฐานของความถูกต้อง ยุติธรรมและความโปร่งใส รวมทั้งพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ มีจิตสำนึกต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและถูกต้อง ตามระเบียบชั้นตอนและกฎหมาย

       7.4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเวทีที่ประชาคมในทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบในกระบวนการของการพัฒนา และพร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบจากประชาชนและสังคมโดยรวม เพื่อป้องกันปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ

      7.5) ส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของเทศบาล พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และแก้ไขปัญหาต่างๆ

       ท่านประธานสภาเทศบาลฯ ที่เคารพ กระผมและคณะผู้บริหารขอยืนยันกับสภาเทศบาลตำบลเวียงว่า การกำหนดนโยบายดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและการปฏิบัติได้จริง ตามภารกิจของเทศบาลภายใต้ความร่วมมือของสมาชิกสภาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ถึงแม้ว่า จะมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณเทศบาลเอง กระผมจะใช้วิธีการประสานงาน บูรณาการความร่วมมือแสวงหาแหล่งงบประมาณจากส่วนต่างๆภายนอกองค์กร มาสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายดังกล่าว กระผมและคณะผู้บริหารมีความมั่นใจที่จะพัฒนาเทศบาลตำบลเวียง ให้เจริญก้าวหน้าบรรลุตามนโยบาย และผลบังเกิดในทางปฏิบัติเกิดประโยชน์สุขอย่างแท้จริงต่อประชาชนสืบไป

วิสัยทัศน์

           “องค์กรโปร่งใส  ประชาชนร่วมใจ  ชุมชนเข้มแข็ง  เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม  เชื่อมโยงการค้าสี่แผ่นดิน”

และในการนี้ กระผมขอแนะนำทีมงานบริหารที่จะเข้ามาช่วยเหลืองานของกระผม ดังนี้

1.นายกำแพง จันทกุล รองนายกเทศมนตรี

๒.นายไสว หินแรง รองนายกเทศมนตรี

3.นายสุพรรณ นาระเรศ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี

4.นางกรวิกา สมรัก เลขานุการนายกเทศมนตรี

                ท้ายนี้ กระผมขอขอบพระคุณท่านประธานสภาเทศบาลตำบลเวียง และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเวียง ทุกท่าน ที่ได้ให้เกียรติรับฟังคำแถลงนโยบายการพัฒนาของเทศบาลตำบลเวียงในวันนี้ กระผมพร้อมด้วยคณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือและความไว้วางใจจากท่านประธานสภาและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเวียงทุกท่าน สนับสนุนการบริหารงานของกระผมและทีมงาน ตลอดวาระของการทำงานในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลเวียงต่อไป

 

ขอขอบพระคุณครับ

******************